อช.ทับลาน ตามหาโขลงช้างกว่า60ตัว ทำลายพืชเกษตรนับร้อยไร่

  • พร

  • Category: ข่าวประชาสัมพันธ์
  • Published Date: Jan 6, 2024
  • Comment: (0)

อช.ทับลาน ตามหาโขลงช้างกว่า 60 ตัว  ทำลายพืชเกษตรชาวบ้านโคราชยับเยินนับร้อยไร่ ก่อนหนีล่องหนออกจากพื้นที่ พร้อมเตรียมปฏิบัติการต้อนกลับป่าอีกครั้ง

 นครราชสีมา – (6 มกราคม 2567)   นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน พร้อมด้วยตัวแทนเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) , เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ลงพื้นที่ประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา  และผู้นำชุมชน เพื่อวางแผนผลักดันโขลงช้างป่า ไม่น้อยกว่า 60 ตัว ที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ไปกัดกินทำลายพืชผลการเกษตรของราษฎรในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี มานานนับเดือน พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสภาพภูมิประเทศ เตรียมวางแผนการผลักดันโขลงช้างป่าดังกล่าวให้กลับเข้าสู่อุทยานฯ โดยเร็วที่สุด

 ซึ่งโขลงช้างป่าได้เข้าไปทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะ

แปลงอ้อยที่อยู่ในพื้นที่บ้านจระเข้หิน ห่างจากชุมชนไม่ถึง 1 กิโลเมตร ถูกช้างป่าบุกทำลายผลผลิตเสียหายไปแล้วไม่น้อยกว่า 30 ไร่ แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะสนธิกำลังร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและผู้นำชุมชนในพื้นที่ คอยเฝ้าระวังผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ช้างป่ายังคงออกมาทำลายผลผลิตของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง 

 ในวันนี้ ทีมอุทยานแห่งชาติทับลานได้พยายามใช้โดรนบินสำรวจติดตามหาโขลงช้างโขลงนี้ แต่ก็ยังไม่พบ  จากการข่าว ทราบว่า ช้างโขลงนี้หายไปจากพื้นที่ไปไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมงแล้ว ตั้งสมมุติฐานว่า โขลงช้างอาจใช้เส้นทางอื่นหรือย้อนกลับเข้าสู่เขตป่าธรรมชาติเอง ภายหลังจากได้กลิ่นควันไฟซึ่งเกิดในพื้นที่เกษตรกรรม  แต่อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่จะยังคงสำรวจซ้ำเพื่อความแน่ใจทั้งทางอากาศและภาคพื้น เนื่องจากยังมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ช้างอาจจะใช้หลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่อีกหลายจุด พร้อมจะนำกล้องวงจรปิดแบบเรียลทาร์มระบบ NCAPS มาติดตั้ง ช่วยหาโขลงช้างอีกทางหนึ่ง เพื่อจะได้ปฏิบัติการผลักดันโขลงช้างโขลงนี้ให้กลับเข้าสู่ป่าทับลาน และดำเนินแผนการป้องกันไม่ให้ช้างกลับมาในพื้นที่ของชาวบ้านในระยะยาว  ซึ่งปฏิบัติการนี้ ในเบื้องต้นจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในพื้นที่ก่อน หากไม่เป็นผลหรือกำลังพลไม่พอ ก็จะทำการเรียกระดมพลเจ้าหน้าที่จากจุดอื่นๆ เข้ามาช่วยทันที

 ซึ่งนายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า การเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าโขลงนี้ให้กับเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น ทางเจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาจากอุปสรรคเรื่องของสภาพภูมิประเทศที่มีความสลับซับซ้อน เป็นภูเขาสูงชันหลายจุด ประกอบกับช้างมีลูกน้อยจึงทำให้การผลักดันทำได้ลำบาก จึงต้องมีการวางแผนกันอย่างรัดกุม ซึ่งคาดว่า น่าจะต้องหาเส้นทางใหม่ในการผลักดันช้างแทนเส้นทางเดิม ที่มีพื้นที่เป็นอุปสรรคและจะได้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด .

ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา